ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เผยเห็น ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยประชุม กนง. เดือน มิ.ย.นี้ หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง-เงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง คาดดอกเบี้ยไทยขยับขึ้นไตรมาส 2-3 ปี 2566 พร้อมคงประมาณการจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 3.3% มองเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวครึ่งหลังตามภาคการท่องเที่ยว

วันที่ 8 เมษายน 2565 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนมิถุนายนนี้ จะเห็น กนง.ส่งสัญญาณปรับโทนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) หลังจากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยต่ำ โดยคาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ราว 0.25% และในไตรมาสที่ 4 อีก 0.25%

ทั้งนี้ การปรับมุมมองของ ธปท.ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย เป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นเฉลี่ยไปถึง 5.6-5.7% ไม่ลดลง และหากดูต่างประเทศหากเงินเฟ้อสูง จะส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับในเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนสำคัญที่ดอกเบี้ยไทยและสหรัฐจะต่างกัน โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 0.50% มิถุนายน 0.50% และกรกฎาคมอีก 0.25% ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐกว้างขึ้น ทำให้ ธปท.จะต้องปรับโทนการขึ้นดอกเบี้ย

“อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอื่น ๆ จะเริ่มสูงกว่าของไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะเริ่มส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะเดียวกัน เราต้องติดตามดูว่าภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกจะชะลอตัวลงไหม ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดจากนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นและรายได้แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ที่อาจลดลง”

ดร.ทิม กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2565 น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงจะขยายตัว 1.5% และครึ่งปีหลังขยายตัว 5% ส่งผลให้การเติบโตจีดีพีเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3.3% เนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลลบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ในส่วนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ยังอยู่ในภาวะปกติ โดยการพิจารณางบประมาณปี 2566 น่าจะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะเริ่มขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ต่อบาท น่าจะค่อย ๆ แข็งค่าขึ้น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า ค่าเงินดอลลาร์/บาท จะอยู่ที่ราว 33 ในครึ่งปีแรกของปี 2565 และปรับเป็น 32.50 และ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ

“ก่อนหน้านี้ เรามองเงินเฟ้อผิดจากราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น ทำให้เราปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นจาก 3% มาอยู่ที่ 4.5% แต่ตัวเลขจีดีพีของเราที่ประเมินไว้ปลายปีอยู่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว เราจึงขอคงไว้ก่อนที่ 3.3% โดยเรายังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 และหากมองว่าการกู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมีความจำเป็น ประเทศไทยก็ยังพอมีความสามารถที่จะกู้เงินเพิ่มได้อีก”